ผลจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่รัฐบาลประกาศมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากตัวแทนนายจ้าง ภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ เปิดหน้าคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างรูปแบบเดิมที่ขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ เพราะไม่ทำให้ทักษะแรงงานดีขึ้น แต่ได้เสนอให้ปรับขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแทน
มติชน สัมภาษณ์ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในมือจัดทำข้อมูลข้อเสนอให้ค่าจ้างเป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
ส.อ.ท.และภาคเอกชนต่างๆ ไม่ปฏิเสธการขึ้นค่าแรงให้ลูกจ้าง เพราะจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับขึ้นต้องอยู่ภายใต้หลักเหตุผล และการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องของนายจ้าง ยิ่งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างแย่ กำลังซื้อหดหาย หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง กระทบต่อยอดขายสินค้ากลุ่มต่างๆ จนได้เห็นโรงงานทยอยปิดต่อเนื่อง จนทำให้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี ปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่า 3% ด้วยปัจจัยเหล่านี้นโยบายของรัฐบาลที่เคยหาเสียงไว้ต้องทบทวนใหม่ เพราะภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม
โดยจุดยืน ส.อ.ท.ต่อนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ มี 3 ข้อสำคัญคือ 1.การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน 2.ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานแทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และ 3.ผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีความเหมาะสม
โดยทั้ง 3 จุดยืนนี้หากเดินหน้าจริงจังไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้แรงงาน แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย สร้างกลไกค่าจ้าง ค่าแรงที่เหมาะสม เกิดมาตรฐานอย่างแท้จริง
ล่าสุด ส.อ.ท.ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ผลักดัน New Model การยกระดับฝีมือแรงงานรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 129 สาขา ด้วย Competency Based Pay รองรับนโยบายการปรับค่าแรง
ซึ่งค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 129 สาขา อยู่ที่ 400-900 บาทต่อวัน
โดย Competency Based Pay เป็นระบบพิเศษเปิดให้เฉพาะนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับค่าแรงเท่านั้น โดยมีอัตราค่าทดสอบภาคความรู้และความสามารถ รวม 10 บาท/คน (อัตราปกติ 100 บาท/คน)
กำหนดเป้าหมายยกระดับฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 500,000 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี ภายใต้ความร่วมมือ ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สถาบันการค้าและอุตสาหกรรม, สภาองค์การนายจ้างและลูกจ้าง, หน่วยงานภาคการศึกษา
เป้าหมาย 2 ด้านสำคัญคือ 1.แก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบนโยบายค่าแรง 2.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ประเทศมีผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น
โดยการทดสอบนั้นจะดำเนินการผ่านศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบที่ได้รับอนุญาต 701 แห่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังขอความอนุเคราะห์ ส.อ.ท.ผลักดันสถานประกอบกิจการภาคเอกชนเป็นศูนย์ทดสอบ เพื่อเพิ่มจำนวนศูนย์ทดสอบให้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่า Competency Based Pay เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ควรผลักดัน เพื่อให้การจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นจริงโดยเร็ว ซึ่งเรื่องนี้พบว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญ และพร้อมทำงานร่วมกับเอกชน ถือเป็นความร่วมมือเชิงรุกที่ดีของภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดนี้เพื่อเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือได้ตามมาตรฐาน สามารถตอบโจทย์เทคโนโลยีและบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนไป Labor Productivity ควรจะเป็น KPI ของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญของผลิตภาพแรงงานมากกว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยเดือนกรกฎาคมนี้ ส.อ.ท.จะหารือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อตกผลึกในรายละเอียดสุดท้ายอีกครั้ง และจะเดินทางเข้าหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน
ทั้งนี้ ในการทำงานของ ส.อ.ท.ยังได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งในการประชุม กกร.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงยืนยันคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน ตามมติของ กกร.จังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตรและบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ส่งกระทบต่อรายได้ในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น กกร.จังหวัดจึงได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด ให้ค่าแรงที่ปรับมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยที่ประชุม กกร.เน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่
นอกจากนี้ กกร.ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน โดย กกร.จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุน โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 279 สาขา และมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 129 สาขา
ทั้งหมดนี้สามารถเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงจะเป็นระบบที่สามารถรับรองทักษะแรงงาน ตอบโจทย์เทคโนโลยีและบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Productivity) ให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ประเด็นค่าจ้างยังยึดโยงกับสภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันไม่สู้ดีนัก โดย กกร.ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 พบว่า ปัจจุบันการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยการค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่อง เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือนเมษายน 2567 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า
ขณะเดียวกัน การส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงปรับกรอบการเติบโตของการส่งออกเป็น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5%
นอกจากนี้ ผลจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯยังกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2567) หดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง
ขณะที่ยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2567) สำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%
โดยกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.คาดการณ์ ณ เดือนกรกฎาคม 2567 คาดจีพีดีไทยจะเติบโต 2.2-2.7% การส่งออกจะเติบโต 0.8-1.5% และเงินเฟ้อกรอบ 0.5-1.0%
โดย กกร.ยังมีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ จึงขอให้ภาครัฐมีมาตรการ หรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ กกร.ยังมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง
ด้วยสภาพเศรษฐกิจดังกล่าวที่ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนอยู่ระดับสูง ดังนั้น จากจุดยืน ส.อ.ท. 3 ข้อที่กล่าวข้างต้น ไม่เพียง ข้อ 1 และ 2 ที่เดินหน้าเป็นรูปธรรมแล้ว ข้อ 3 การผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีความเหมาะสม ปัจจุบัน ส.อ.ท.เดินหน้าอยู่เช่นกัน เพื่อเสนอชุดมาตรการการปรับค่าแรงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจริงๆ
ล่าสุด ส.อ.ท.ได้นำ 8 ข้อเสนอพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อรัฐบาลที่เคยเสนอต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่การหารือร่วมกันครั้งแรกระหว่าง ส.อ.ท.กับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เมื่อเดือนตุลาคม 2566 มาปัดฝุ่นให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น คาดว่าจะเสร็จในเร็วๆ นี้ เพราะแกนหลักของ 8 ข้อครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว
โดย 8 ข้อเสนอพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ได้แก่
1.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมอีสออฟดูอิ้งบิซิเนสและเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
2.การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ
3.การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
4.การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
5.การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและดิจิทัล
6.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่
7.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
8.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม
เมื่อ 8 ข้อเสนอพัฒนาอุตสาหกรรมไทยฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์ ส.อ.ท.จะเร่งเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
ที่มา: มติชนออนไลน์