ข่าวสารธุรกิจ

ครึ่งแรกปี 67 ไทยขาดดุลการค้าจีน 7.2 แสนล้าน 'สินค้าถูก' รุกหนัก กระทบ 23 อุตสาหกรรม

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. วานนี้ (7 ส.ค.67) มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%YoY คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน -19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.66%YoY

ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็ง และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน และส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้า และการลงทุน ระหว่างไทย และจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศ และกติกาสากล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการเสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขคือ กรณีสินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตั้งฐานผลิตในไทย และการเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์จากจีนที่ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าให้ผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ลดต้นทุน และทำราคาต่ำได้

โดยการรุกช่องทางจำหน่ายดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ เห็นได้จากอัตราการปิดโรงงานสูงถึง 667 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs ขณะที่ยอดเปิดโรงงานใหม่ส่วนใหญ่เป็นทุนต่างชาติ ซึ่งภาพรวมผลกระทบขณะนี้เป็นวงกว้างรวม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมล่าสุดที่ได้รับผลกระทบคือ เยื่อกระดาษ และเครื่องหนัง

“กกร.จะเสนอรัฐบาลให้สนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ควรสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเหล่านี้ และภาครัฐควรเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าไทย จากปัจจุบัน 5% อยากให้เพิ่มเป็น 5 - 20% และควรต้องทำในระยะเวลานานเพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นตัว อย่างน้อยต้อง 2 ปี และเรื่องนี้ต้องทำเร่งด่วน”

โดยข้อเสนอเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้า Made in Thailand เป็นแนวทางแรกที่ภาครัฐจะสนับสนุนได้ทันที เพราะสามารถนำมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จากเดิมกำหนดผู้ประกอบการไทยมีแต้มต่อ 5% กล่าวคือ หากผู้ประกอบการไทยเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการต่างประเทศ ในอัตราไม่เกิน 5% ให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการไทยก่อน ดังนั้นในกรณีข้อเสนอของ กกร.ครั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐปรับเพิ่มแต้มต่อเป็น 5 – 20% แล้วแต่รายสินค้า เพื่อสร้างโอกาสให้แก่สินค้าที่ผลิตในไทย

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า สินค้าจีนทะลักเข้าไทยเป็นเรื่องที่ กกร.จับตาดูอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ และอยากให้ภาครัฐหามาตรการแก้ไขโดยด่วน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจรากฐานของประเทศต้องพังลง และกลายเป็นสังคมบริโภค ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อการจัดจำหน่ายได้เอง เพราะผู้ประกอบการต้องปิดตัวลง โดยข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งสกัดกั้นสินค้าเหล่านี้ เริ่มจากตรวจสอบบริเวณด่านนำเข้าสินค้า กระทรวงการคลังและศุลกากรต้องเข้มงวดในการจัดเก็บภาษี