ข่าวสารธุรกิจ

วิกฤติกองทุนน้ำมันฯ 4 ปี ติดลบทะลุแสนล้าน เร่งฟื้นสภาพคล่อง เตรียมทยอยจ่ายหนี้เงินกู้ พ.ย. นี้

กองทุนน้ำมันฯติดลบต่อเนื่อง 4 ปี เหตุอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง-วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน หนักสุดปี 2567 ขยับเพดานดีเซล 33 บาท/ลิตร กองทุนฯขาดสภาพคล่องหนัก ดันติดลบ 111,663 ล้านบาท เตรียมทยอยจ่ายเงินต้นให้สถาบันการเงินหลังเป็นหนี้ 105,333 ล้าน พ.ย. นี้

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์พลังงานในขณะนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมด้านเศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวน้อยทำให้การบริโภคพลังงานลดลงตามไปด้วย ซึ่งในขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกประมาณ 30,000 ล้านบาท

เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายการบริโภคน้ำมันกลับมามีอัตราเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ เริ่มชดเชยก๊าซ LPG ตรึงอยู่ที่ 318บาท/ถังขนาด 15 กก. เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ภาคครัวเรือน ขณะที่ในช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกซึ่งเคยพุ่งทะลุระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ราคา 30 บาท/ลิตร

โดยเคยชดเชยสูงสุดถึง 14 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯ ในเวลานั้นติดลบราว 130,000 ล้านบาทจำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดถึง 35 บาท/ลิตร

จึงได้มีการแก้ไขกรอบวงเงินกู้ ตามมาตรา26 วรรคสาม โดย ครม.มีมติขยายกรอบเป็น 150,000 ล้านบาท และขอให้รัฐบาลอนุมัติออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพราะกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ มีกรอบวงเงินกู้ยืมได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินในการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงินกู้ 105,333 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้

สำหรับในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย กองทุนน้ำมันฯ ได้มีการลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงจำนวน 6 ครั้ง เหลือ 32 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม และในช่วงเวลาที่ลดการชดเชยก็เริ่มมีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จนทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือประมาณ 49,000 ล้านบาท ต่อมาเมื่อได้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร

ขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่เคยเข้ามาเป็นกลไกช่วยพยุงราคาดีเซลอีกทางหนึ่งได้หมดอายุลง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกหลักเดียวในการพยุงราคาน้ำมัน ทำให้ปัจจุบันติดลบ 111,663 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีมาตรการการตรึงราคาน้ำมันดีเซล กำหนดเพดาน

เป็นไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ไว้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ส่วนราคาก๊าซ LPG ตรึงไว้ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 ได้ขยายมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร เป็นรอบที่สอง ออกไปอีก 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาท/ลิตร

“ผมเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งแรกช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งขณะนั้นฐานะกองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นบวกอยู่ถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด หลังจากมีวัคซีนโรคโควิดเริ่มผ่อนคลายลง เศรษฐกิจถูกกระตุ้นอัตราการเติบโตทำให้ราคาน้ำมันเริ่มเข้าสู่ขาขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งโลกต้องพบกับวิกฤตที่สั่นคลอนราคาน้ำมันครั้งใหญ่จากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2565 ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กองทุนน้ำมันถูกใช้เป็นกลไกหลักในการพยุงราคาดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ควบคู่กับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในบางช่วง และแม้ว่าในปี 2566 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย แต่ก็ยังมีความผันผวนด้านราคาจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ส่งผลให้สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ยังคงต้องแบกรับการอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ต่อไปจนทำให้เริ่มเกิดวิกฤตอีกรอบในปี 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอีกรอบ และครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เองซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่วิกฤตมาจากปัจจัยภายนอก” นายวิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท ในส่วนของประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดมีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท แบ่งเป็นรายรับประเภทน้ำมันวันละ 81.76 ล้านบาท และรายรับก๊าซ LPG วันละ 6.39 ล้าน แต่กองทุนน้ำมันยังมีการชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.40บาท/ลิตร คิดเป็นรายจ่ายประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 วิกฤติกองทุนน้ำมันฯ 4 ปี ติดลบทะลุแสนล้าน เร่งฟื้นสภาพคล่อง เตรียมทยอยจ่ายหนี้เงินกู้ พ.ย. นี้