ข่าวสารธุรกิจ

แบงก์ชาติพร้อมปรับดอกเบี้ย เพราะกังวลสภาวะการเงินตึงตัว

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยชัดๆ ครั้งแรก เพราะกังวลเรื่องสภาวะทางการเงินตึงตัว แม้เศรษฐกิจกับเงินเฟ้อจะยังเป็นไปตามที่ประเมินเอาไว้

ในการแถลงข่าวครั้งล่าสุด (24 ส.ค. 2567) ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบคำถามเกี่ยวกับการปรับดอกเบี้ย (แปลง่ายๆ คือ จะขึ้นหรือจะลด) โดยบอกว่า แบงก์ชาติ ‘เปิดกว้าง‘ (Open) มากขึ้นที่จะปรับดอกเบี้ย

ช่วงแรกผู้ว่าฯ อธิบายว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับแนวโน้ม หรือที่เรียกว่า Outlook Dependent เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจ 2. เงินเฟ้อ และ 3. เสถียรภาพการเงิน หาก 3 อย่างนี้มีการเปลี่ยนแปลง แบงก์ชาติก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายของตัวเอง โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ย

ถ้าไล่ดูจะเห็นว่า

1. เศรษฐกิจ: เศรษฐกิจไทยโดยรวม (ดูจากจีดีพี) ค่อยๆ เข้าสู่ระดับศักยภาพ ซึ่งก็สอดคล้อง (In-line) กับที่แบงก์ชาติประเมิน ยังไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไป (16 ต.ค. 2567) จะมีการอัปเดตคาดการณ์เศรษฐกิจของแบงก์ชาติอีกรอบ

2. เงินเฟ้อ: ตอนนี้เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย (กรอบ 1-3%) แต่แนวโน้มน่าจะกลับสู่กรอบล่าง (แถวๆ 1% ได้) แต่เอาจริงๆ แบงก์ชาติไม่ได้สนใจตัวเลขเงินเฟ้อปัจจุบันขนาดนั้น แต่สนใจจะรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘คาดการณ์เงินเฟ้อ‘ มากกว่า ซึ่งต้องรักษาให้อยู่ในระดับต่ำ ไม่อยากให้หลุดสูงไป (ตราบใดที่ไม่นำไปสู่เงินฝืด)

อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า 2 เรื่องแรกค่อนข้างจะ In-line กับที่แบงก์ชาติประเมินเอาไว้ แต่ผู้ว่าฯ บอกว่า เรื่องที่ 3 เริ่มมีความกังวล (Concern) มากขึ้น

3. เสถียรภาพการเงิน: สภาวะทางการเงินตอนนี้ตึงตัว ถ้าตึงตัวมากๆ หรือตึงตัวเกินไป ตัวนี้จะเป็นตัวหนึ่งที่ผลักดัน (Trigger) ให้ กนง.ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสม

‘โทนในการคุยกันของกรรมการ (กนง.) ในที่ประชุม สิ่งที่คุยกันและอยากจะให้มันสะท้อน (Reflect) ออกไปในรายงานการประชุม (Statement) คือ การเปิดกว้างที่มากขึ้น (More Openness) ที่จะปรับเรื่องของดอกเบี้ย’

ส่วนการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ไม่ได้เป็นแรงกดดันกับแบงก์ชาติ เพราะนโยบายไทยก็ขึ้นอยู่กับไทยเป็นหลัก (3 เรื่องข้างบน) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายการเงินของพวกธนาคารกลางหลักๆ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

 

แหล่งที่มา workpointtoday

workpointtoday.com/bot-open-more-for-rate-cut/