นายโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 ม.ค.2568 ซึ่งทั่วโลกได้จับตามดูการนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสถานการณ์สงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น
นายอัทธ์ พิศาลวาณิช์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดผยว่า ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและส่งออก 2025 ท่ามกลางนโยบายทรัมป์ 2.0 และปัจจัยเสี่ยง โดยปี 2025 เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกสูงและปัจจัยเสี่ยง “รอบทิศทาง” จากปัจจัยเสี่ยงเดิมที่มีอยู่แล้ว
รวมถึงประเด็นเสี่ยงใหม่โดยเฉพาะจากนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ที่เน้นเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก “America First” จากทั้ง 2 ปัจจัยเสี่ยงข้างต้นจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางลบหรืออาจจะทางบวกต่อเศรษฐกิจโลกและไทย
ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการจัด “ระเบียบโลกใหม่” ที่เข้มข้นทุกมิติทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้า ค่าเงิน เทคโนโลยี การรวมกลุ่มเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและไทย กลับมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำ
ทั้งนี้ มีการประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลก มีอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2024 เช่น Goldmam Sachs ประเมินที่ 2.7% ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) อยู่ที่ 3.2%
รวมทั้งเมื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายการใช้ภาษีนำเข้าของทรัมป์ทุกด้าน จะทำให้เศรษฐกิจโลกลดลง 0.4-0.6% โดยคาดว่าขยายตัว 2.7% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.7% และจีนขยายตัวต่ำกว่า 5% ส่วนเยอรมันได้รับผลกระทบมากสุดในยุโรปขยายตัว 0.3% โดยผลการวิเคราะห์นี้ไม่ได้รวมผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2025 ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงหลัก ประกอบด้วย หนี้ครัวเรือน นโยบายการลงทุนและอัตราดอกเบี้ย ทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวอยู่ภายใต้ฉากทัศน์สงครามยังมีอยู่ทั้งอิสราเอลกับประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงยูเครนและรัสเซีย และหากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ขยายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ราคาน้ำมันจะแตะ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยิ่งกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
“ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่กระทบเศรษฐกิจไทยมาที่สุดคือ คือ นโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ 2.0 ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.3-0.5% ตามด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจจีน”
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของตัวแปรเศรษฐกิจไทย เช่น การบริโภค การลงทุน การส่งออกและการนำเข้าเคยขยายตัวด้วย 2 หลัก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยปี 1990 การบริโภคขยายตัว 12.8% แต่ปี 2025 คาดว่าขยายตัวเพียง 2.3%
ห่วงสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย10%
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2025 จะขยายตัว 2.2-2.7% หรือเฉลี่ย 2.4% และหากทรัมป์เก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% จะทำให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.9-2.2% หรือเฉลี่ย 2.05% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2025 ขยายตัวต่ำสุดรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2019 โดยไทยยังเป็น “ผู้ป่วยของอาเซียนด้านเศรษฐกิจ” ที่อัตราการขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน และขยายตัวอันดับ 9 ของอาเซียนที่ระดับ 2.4%
ขณะที่การส่งออกไทยจะขยายตัว 1.5-2.2% หรือเฉลี่ย 1.9% มูลค่า 296,511-298,556 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากทรัมป์เก็บภาษี 10% ทำให้ส่งออกไปสหรัฐลดลง 5-10% มูลค่า 1.0-1.9 แสนล้านบาท ทำให้ส่งออกไทยรวมลดลง 2% การได้ดุลการค้าจากสหรัฐลดลงจาก 29,101 ล้านดอลลาร์ เหลือ 27,535 ล้านดอลลาร์ ลดลงรอบ 4 ปี และการนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มเป็น 2 เท่า
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาการเก็บภาษีจากสหรัฐ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เสื้อผ้าและพลาสติก ในขณะที่สินค้าเกษตรที่อาจถูกเก็บภาษี คือ ผลไม้ ยางพารา อาหารทะเล ข้าวและเครื่องดื่ม
จับตาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่า 10% ในรอบ 2 ปีติดต่อกันจะกระทบการส่งออกไทยไปจีน และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยไม่เกิน 7 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 32-34 ล้านคน
ขณะเดียวกันสินค้าจีนที่จะทะลักเข้าไทยมากที่สุด คือ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สินค้าอุปโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ไทยขาดดุลกับจีนสูงสุดรอบ 6 ปี
ส่วนกรณีที่ทรัมป์เก็บภาษีกลุ่ม BRICS 100% จะทำให้การส่งออกกลุ่ม BRICS ลดลง 50% ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าลดลงจาก 367,673 ล้านดอลลาร์ เหลือ 183,836 ล้านดอลลาร์ โดยเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดในอาเซียนตามด้วยไทย
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปแทนที่สินค้ากลุ่ม BRICS คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเด็กเล่น ข้าวและผลไม้
"เศรษฐกิจไทยปี 2568 อยู่ภายใต้แรงกดดันรอบทิศทางทั้งจีดีพีขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้ว SMEs ปิดตัวมากขึ้นและถูกเทคโอเวอร์จากต่างชาติ โดยไทยขาดการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้เงินงบประมาณเพื่อประชานิยมไม่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง"
ขณะที่การว่างงานจะมากขึ้นจากเศรษฐกิจชะลอตัว การปิดตัวและลดขนาดของบริษัทไทย โดยเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากต่างประเทศ ทั้งการลงทุน การส่งออกและนักท่องเที่ยวที่จะเป็นความเสี่ยงหากปัจจัยเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ไทยยังขาดโรดแมปที่จะมาต่อสู่กับทรััมป์ 2.0
“ทรัมป์”ฉุดแรงส่งเศรษฐกิจไทย
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปี 2568 เป็นปีไม่ง่ายสำหรับเศรษฐกิจ โดยมีความท้าทายของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก และมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.9% โดยโมเมนตัมยังมีต่อเนื่องปลายปี 2567 ถึงครึ่งปีแรกปี 2568
อีกทั้งมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งงบลงทุนและเร่งเบิกจ่ายถึงครึ่งปีแรกปีหน้า จากปัจจุบันมีงบค้างท่ออยู่มาก ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจเติบโตดี
แต่ที่ห่วงคือในครึ่งปีหลังที่แรงส่งเศรษฐกิจมีน้อยลง ทั้งจากการดำเนินนโยบายของ “ทรัมป์” รวมถึงแรงกระตุ้นภาคการคลังที่จะลดลงในครึ่งหลังปี 2568 เพื่อลดการขาดดุลให้ลดลง ทำให้การใช้งบของรัฐบาลเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ครึ่งปีหลังื้นตัวไม่ดี
แนะนโยบายการเงินนำ“นโยบายคลัง”
รวมทั้งการกระตุ้นช่วงหลังมาจากแรงกระตุ้นการคลังที่ลดลง ดังนั้น อาจเห็นนโยบายการคลังครึ่งปีหลังถอยลงทำให้นโยบายการเงินขึ้นมาเป็นกองหน้าด้วยการลดดอกเบี้ยไม่ฉะนั้นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจสะดุด
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกระท่อนกระแท่นมาก ภาคการเงินตึงตัว และภาคคลังเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น การใช้งบจะเห็นน้อยลงเพื่อลดขาดดุลทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจหายไปในครึ่งปีหลัง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง"
ดังนั้นแม้คณะกรรมการนโยายการเงิน (กนง.) ไม่เห็นด้วยที่จะลดดอกเบี้ย แต่เมื่อกลางปีจำนนด้วยหลักฐานทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ กนง.อาจต้องลดดอกเบี้ยไปอีก และนักวิเคราะห์บางส่วนมองดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50%
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินที่อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น (Inflation targeting) มีกรอบเงินเฟ้อ 1-3% ค่ากลางที่ 2% แต่หากดูกรอบเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อเฉลี่ย 1% เท่านั้น และปี 2567 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.3-0.4% ดังนั้น เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามานาน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าส่วนนี้คือ “นโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป”
ดอกเบี้ยที่ 2% เป็นระดับที่สูงเกินไป
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย 2.25% และเงินเฟ้อที่ 0.3-0.4% ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ที่ 2% ถือว่าสูงมาก และการที่เงินเฟ้อไม่เคยใกล้ 2% มองว่าดอกเบี้ย 2% เป็นระดับสูงเกินไป โดยในภาวะต่างประเทศหรือสหรัฐไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า แต่หากไทยลดดอกเบี้ยลง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ตามมา คือ เงินบาทอ่อนค่า
สุดท้ายแล้ว มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อและคุมด้วยดอกเบี้ยบน Inflation Targeting ดังนั้น ต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าและผันผวนขึ้น เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่ใช้นโยบายการเงินผ่านการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน โดยยอมให้เงินเฟ้อผันผวนเพื่อคุมอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นเมื่อเลือกใช้นโยบายด้านหนึ่งต้องยอมแลกที่จะปล่อยอีกด้าน
“ไทยไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องกลัวเงินเฟื้อ เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อของจีนที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้เงินเฟ้อของไทยอยู่ระดับต่ำไปด้วย ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกลัวเงินบาทอ่อนค่า หากอ่อนแล้วยังเอื้อต่อการส่งออก ก็เชื่อว่าไม่ได้เสียหาย”
แนะไทยเร่งปรับโครงสร้างภาษี
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีของภาครัฐจะทำได้ 2 อย่าง คือ 1.การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นฐานภาษีที่ค่อนข้างใหญ่ แต่การเก็บภาษีดังกล่าวจะมีข้อเสีย คือ คนรวยและคนจนต้องจ่ายอัตราเท่ากัน แม้ว่าจะเก็บในอัตรา 10% ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะไทยอยู่ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง รัฐจึงจะต้องคิดว่าจะสามารถเก็บภาษีระหว่างคนรวยและคนจนได้อย่างไร
2.ภาษีนิติบุคคล หากมีการเก็บค่อนข้างสูงจะทำให้คนหรือธุรกิจไม่อยากลงทุน และหากผลตอบแทนไม่เติบโตจะทำให้รัฐเก็บภาษีไม่ได้ แต่ความหวังของรัฐบาลต้องการให้จีดีพีเติบโต เพื่อให้มีเงินมาช่วยเหลือคนจน
“ครึ่งหลังเราเริ่มเห็นนโยบายการคลังเริ่มถอยหลัง โทนดาวน์ลง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจนโยบายการคลังทำได้ 2 วิธี คือ การใส่เงินเพิ่ม และการลดภาษี โดยรัฐก็ต้องดูว่างบประมาณขาดดุลมากหรือน้อย แต่ได้มีการส่งสัญญาณจากรัฐมนตรีคลังว่าจะลดการขาดดุล ซึ่งจะทำผ่านการลดภาษีและลดค่าใช้จ่าย”
หนุนไทยบุกอุตสาหกรรมอาหาร-สุขภาพ
สำหรับการสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า มองไทยจะต้องหาจุดแข็งในเซ็กเตอร์ที่มี เช่น ทุเรียน ที่มีความต้องการสูงโดยภาครัฐไม่ต้องสนับสนุน ซึ่งจะเห็นว่าวันนี้ยอดขายทุเรียนใกล้เคียงยอดขายเท่ากับข้าว โดยมองว่าจุดแข็งของไทย คือ อาหาร
รวมทั้งจีนเป็นจุดอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะหาจุดอ่อนของจีน ซึ่งวันนี้จีนเป็นผู้นำเข้าอาหารมากที่สุด และจะเป็น Net Import Food ตลอดไป นอกจากนี้ ไทยยังมีเรื่องท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ (Wellness) ที่สะท้อนผ่านหุ้นโรงพยาบาลที่มีมูลค่าสูงเป็นการบอกถึงการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ การลดกฎเกณฑ์การทำธุรกิจและการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้อยู่รอดหรือปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สนับสนุนการเติบโตของไทยได้
“คำถามวันนี้จะขุดเจาะน้ำมันกับกัมพูชา หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ อาจจะต้องเริ่มคิดว่าเพราะใช้เวลาในการสร้างถึง 10 ปี ซึ่งค่อนข้างดีกว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันที่ต้องแบกหนี้มหาศาล”
สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงเผชิญความท้าทายในปี 2568 ยังคงเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ถูกกดดันจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งใช้ชัพพลายเชนน้อยชิ้นกว่ารถยนต์สันดาป ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จะโดนดาวน์ไซซ์ และอาจจะต้องเหนื่อยต่อไปอีก 3-5 ปี
ขณะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธปท.ต้องการพยายามทำกระบวนการลดหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่สูงระดับ 90% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่และแก้หนี้เก่า ซึ่งจะเห็นการทำแบบนี้ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี
แหล่งข้อมูล ฺBangkokbiznews