ข่าวกิจกรรม

กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนกันยายนของสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นหดตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 0.5% และเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในช่วงที่เหลือของปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนที่ปรับลดดอกเบี้ยรวมถึงภาครัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ เพื่อพยุงการผลิตและการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
  • ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก เงินบาทแข็งค่าจาก 36.8 มาที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือราว 12% เป็นการแข็งค่าที่มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท
  • ยังต้องติดตามผลกระทบจากอุทกภัย กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มต่อเนื่องจากพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/67 คาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2% ถึง 2.7% ด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ ทั้งในส่วนของการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมทั้งให้ภาครัฐบูรณาการพัฒนาระบบแจ้งเตือนระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ทราบแบบ Real time ผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 

            กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.

%YoY

ปี 2567

(ณ ส.. 67)

ปี 2567

(ณ ก.. 67)

ปี 2567

(ณ ต.. 67)

GDP

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

ส่งออก

0.8 ถึง 1.5

1.5 ถึง 2.5

1.5 ถึง 2.5

เงินเฟ้อ

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

  • ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 34.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้  โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารฯเชิงรุกเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่นต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมเสนอให้ธปท.เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25% - 0.5% อีกภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ Real Sector ได้อย่างรวดเร็ว และพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต

  • ที่ประชุม กกร. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้

1)  การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ(LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย

2) การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS)  โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา

3) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

4) เร่งให้ความสำคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) ภายในปี พ.. 2569 และต้องมีการกำหนดแนวทางการเปิดเสรีอย่งเป็นรูปธรรมและกรอบเวลาชัดเจนใน PDP 2024 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ตลอดจนมีระบบการจัดการแบตเตอรี่เก่าใช้แล้วอย่างครบวงจร

5) การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และการกำหนดใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ที่ควรมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย

6) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)