วันนี้ (28 ตุลาคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือแนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ระดมความเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ และจัดทำเป็นสมุดปกขาวข้อเสนอทางเศรษฐกิจเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีประเด็นข้อเสนอเป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2) การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3) การบริหารจัดการน้ำ และ 4) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนี้
1. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบการส่งออกในภาคเกษตรและการผลิต หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมยังพึ่งพาการผลิตต้นทุนต่ำ ขาดนวัตกรรม และการพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่ทันต่อความต้องการ
ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่
1.1 มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น การตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและลดภาระของประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และการแก้ไขปัญหาหนี้โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (กระบะ) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน จำเป็นต้องมีมาตรการผ่อนผันเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบกิจการได้
1.2 การลดราคาพลังงานและปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ตลอดจนผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน)
1.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแยกวิธีการให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งเร่งด่วนก่อนซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว (2) ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก (3) สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ
1.4 กระจายงบประมาณไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง กระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่
1.5 การหาแนวทางผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ โดยพิจารณา incentive จูงใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ การเชื่อมโยงข้อมูลทั้งรัฐและเอกชนให้ธุรกิจมีตัวตนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในระบบได้ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ Rule of law และการบังคับใช้กฎหมาย
1.6 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบควบคู่กันอย่างเหมาะสม โดยมี pathway ของการลดลงของหนี้ที่ชัดเจน
2. การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งปัจจุบัน SMEs ยังประสบปัญหา
ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนขาดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภัณฑ์
ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่
2.1 การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยการศึกษาผลกระทบของสินค้าที่ทะลักเข้ามา
ในประเทศอย่างจริงจัง การใช้ Data Driven ส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Platform E-Commerce ควบคู่ไปกับการผลักดันสินค้าไทยออกไปในต่างประเทศ การจัด Priority สินค้าบางประเภทของไทยที่จำเป็นต้องมีมาตรการปกป้องและใช้เป็นมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ การเพิ่มมาตรการด้านการลงทุนโดยเน้นใช้ Local Content ให้มากที่สุด ตลอดจน
มีมาตรการควบคุมระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ
2.2 สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และกองทุนต่าง ๆ ทั้ง สสว. บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย
2.3 การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ได้แก่ 1) มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาเครดิตบูโรและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ โดยควรจัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเพื่อประคองธุรกิจ และการผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ สำหรับกลุ่มที่สามารถดำเนินกิจการได้ปกติ รัฐบาลควรมีมาตรการสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำ ปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนเป็นทางเลือก และการปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2) มาตรการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการสู่ Smart SME เช่น จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดหาตลาดรองรับสินค้านวัตกรรม การจัด Event แสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ สนับสนุนเงินทุนสำหรับการขอการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมแก่ SME 3) การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business
2.4 Corporate digital ID ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนิติบุคคล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่จดเป็นทะเบียนนิติบุคคล ในการแก้ปัญหาบัญชีม้าที่เป็นบัญชีนิติบุคคล
3. การบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก
ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่
3.1 มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านการเงินและการลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการได้ในกรณีที่ประสบสถาการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติ
3.2 การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนแบบ Real time ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ
3.3 การจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ
3.4 ผลักดันให้มีการพัฒนาและเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั่วประเทศ
ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่
3.5 การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างความต้องการน้ำ (Demand) และการจัดหาน้ำ (Supply) อย่างสอดคล้องและเหมาะสม
3.6 ขยายผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
3.7 ส่งเสริมองค์ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอระยะยาว ได้แก่
3.8 นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทันสมัยและยั่งยืน เพื่อรองรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชน อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถรับมือกับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน
4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ
ทั่วประเทศ ส่งผลให้คนไทยมีงานที่มีคุณภาพ รายได้สูง และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่
4.1 ผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนใน EEC โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน การจัดทำสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุน และเสนอให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นอีก 1 จังหวัดที่รวมอยู่ในพื้นที่ EEC
4.2 การอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายลำทางเรือในระบบคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยขอพิจารณาจัดทำ Transshipment Sandbox เป็นระยะเวลา 1 ปี
4.3 การปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย สินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) และการส่งเสริมสินค้าไทยด้วยการโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์
4.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการค้าชายแดน โดยเฉพาะการเจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อยกระดับจุดผ่านแดนทางการค้า การแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า – ส่งออกสินค้าทางอากาศ
4.5 เร่งรัดการปรับปรุง - ทบทวน กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมดของภาครัฐ
ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่
4.6 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์ ICE การผลักดันนโยบาย ZEV ให้มีความต่อเนื่องทั้ง Eco System การส่งเสริมนโยบาย Part Transformation เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ
4.7 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) ภายใต้แนวคิด BCG Model ทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ส่งเสริมการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) และการใช้ประโยชน์ใหม่ (waste symbiosis) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) รวมถึงบูรณาการแนวทางการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติต่อเรื่อง Climate Change ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
4.8 เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และก้าวทันกระแสโลก ทั้งการเจรจากับประเทศคู่ค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินและการค้าระหว่างกันในภูมิภาค การส่งเสริม Cashless & digital economy การสนับสนุน tax incentive สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ Transition finance และการลงทุนที่เกี่ยวกับ Green ฯลฯ
ข้อเสนอระยะยาว ได้แก่
4.9 เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค การเพิ่มสิทธิประโยชน์ การอำนวยความสะดวก
เรื่องการครองที่ดินในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญระดับสูง
ในการนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกที่มีอยู่ นั่นคือ การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันโดยตรง เกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อย่างตรงประเด็น รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน กกร. จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดการจัดประชุม กรอ. อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้ GDP ของไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่า กว่า 3 – 5% ในอนาคตอันใกล้ต่อไป
ข้อมูลจาก: คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)