ปี 2024 ล่วงเลยมาจนถึงกลางเดือนที่ 8 แล้ว หากจะกล่าวคำจำกัดความภาวะเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาแบบสั้น ๆ ก็คือ “เหนื่อยกันทั่วโลก”
เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนของเรา ซึ่งพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มาก ก็ย่อมได้รับผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบจาก “ความเป็นไป” ของโลก
ในครึ่งปีหลังที่ ณ ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 4 เดือนกว่า เศรษฐกิจโลกยังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงนานัปการ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจอาเซียน
โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจอาเซียนในครึ่งหลังของปี 2024 จะมีอะไรบ้าง และแนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร “วิจัยกรุงศรี” ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพิ่งเผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนปี 2024 ฉบับอัพเดตออกมาฉายภาพให้เห็น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
รายงานของวิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์ตามเดิมว่า เศรษฐกิจอาเซียนในปี 2024 จะโต 4.5% จากปีก่อนหน้า (YOY) สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในวงกว้าง โดย “การส่งออก” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของหลาย ๆ ประเทศ อย่างเวียดนามและกัมพูชา ขณะที่ “การบริโภคภายในประเทศ” เป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศที่เน้นอุปสงค์ในประเทศ อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ความเสี่ยงหรือปัจจัยกดดันสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงให้การส่งออกของอาเซียนลดลง, กำลังการผลิตส่วนเกินของจีนเพิ่มขึ้น, ภาวะทางการเงินภายนอกแย่ลง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนแย่ลง สถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลทางอ้อมต่อการเติบโตของอาเซียนผ่านการลงทุนที่ลดลง
สำหรับผลกระทบจากการที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษีจีนนั้น วิจัยกรุงศรีคาดว่าผลกระทบจะส่งผ่านห่วงโซ่อุปทานของจีน โดยส่งผลให้การส่งออกของอาเซียนไปยังจีนลดลง และยังอาจส่งผลให้อาเซียนนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนมีอุปทานส่วนเกินที่จะต้องหาทางระบายออกให้ได้
ส่วนโอกาสหรือผลกระทบในแง่บวก อาเซียนอาจส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจากจีนที่โดนสหรัฐตั้งกำแพงภาษี อย่างที่อาเซียนเคยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตตั้งแต่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มต้นขึ้นในปี 2018
โอกาสอีกด้านหนึ่งของอาเซียนคือ ได้ต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งนับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มต้นขึ้นในปี 2018 อาเซียนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายฐานการผลิต
ในด้านความเสี่ยงนั้น ความเสี่ยงเหล่านี้อาจเพิ่มมากขึ้น หากความตึงเครียดทางการค้าและความเข้มข้นของภาษีเพิ่มมากขึ้นหลังการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งสำหรับอาเซียน ผลการเลือกตั้งของสหรัฐนอกจากจะส่งผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนผ่านประสิทธิภาพของเศรษฐกิจสหรัฐด้วย
นอกจากนั้น หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณการค้าและกิจกรรมการผลิตในสหรัฐและจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอลง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงจะส่งผลทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะยังได้ประโยชน์อยู่บ้างจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อมองระยะถัดไปในปี 2025 วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะโต 4.6% (YOY) เนื่องจากคาดว่าตัวขับเคลื่อนการเติบโตในปัจจุบันจะรักษาโมเมนตัมเอาไว้ได้
แหล่งที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : โอกาสและความเสี่ยง “เศรษฐกิจอาเซียน” ครึ่งหลัง 2024 (prachachat.net)